วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2551

การเรียกชื่อและการออกเสียงตัวอักษรในภาษาไทย

ภาษาไทยมีตัวอักษรสำหรับใช้แทนเสียงต่าง ๆ ในภาษา ทำให้เราสามารถอ่านและเขียน
หนังสือได้อย่างมีระบบ สื่อความหมายเข้าใจตรงกัน ตัวอักษรไทยที่ใช้แทนเสียงมี 3 ชนิด ได้แก่

สระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์
สระมี 21 รูป 32 เสียง
พยัญชนะมี 44 รูป 21 เสียง
วรรณยุกต์มี 4 รูป 5 เสียง

ตัวอักษรไทยแต่ละตัวมีชื่อเรียก เช่น ก ไก่ ข ไข่ ฃ ขวด ค ควาย ไปจนถึง ฮ นกฮูกท่านเคยสงสัยไหมคะว่า ทำไมต้องมีชื่อเรียก
ศ.ดร.อุดม วโรฒม์สิกขดิตถ์ ได้ให้เหตุผลที่ต้องมีชื่อเรียกตัวอักษรไทยว่า พยัญชนะ
ไทยหลายตัวที่ออกเสียงอย่างเดียวกัน เช่น ข-ฃ , ค-ฅ , ช-ฌ , ฑ-ฒ-ท-ธ , ศ-ษ-ส นั้น
เราไม่สามารถแยกได้ว่าหมายถึงพยัญชนะต้นตัวใด แต่เพื่อที่จะแยกว่าเสียงนั้นหมายถึงพยัญชนะตัวใด
จึงได้มีผู้คิดตั้งชื่อเฉพาะขึ้น เช่น
พระโหราธิบดี ได้กำหนดชื่อเรียกพยัญชนะที่ออกเสียง สอ โดยเรียกเลียนแบบลักษณะ
ของรูปพยัญชนะ ซึ่งเป็นที่มาของพยัญชนะ ศ ศาลา เรียกว่า ศ คอ เพราะมีลักษณะการเขียนคล้าย
ตัว ค แล้วเติมหางด้านบน ษ ฤาษี เรียกว่า ษ บอ เพราะมีลักษณะการเขียนคล้ายตัว บ แล้ว
เติมไส้ที่เส้นหลัง ส เสือ เรียกว่า ส ลอ เพราะมีลักษณะการเขียนคล้ายตัว ล แล้วเติมหางด้านบน
พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้คิดชื่อ พยัญชนะบางตัวเพื่อแสดง
ความแตกต่างไว้สอนนักเรียนในโรงสกูลหลวง ดังนี้

ข ขัดข้อง ปัจจุบันคือ ข ไข่
ข อังกุษ ” ฃ ขวด (อังกุษหมายถึง ขอเหล็กอย่างขอสับช้าง ปัจจุบัน
สะกดด้วยอังกุศ)
ค คิด ” ค ควาย
ฅ กัณฐา ” ฅ คน (เรียกชื่อพยัญชนะโดยหาคำที่มีความหมาย
ของคำเหมือน)
ช ชื่อ ” ช ช้าง
ฌ ฌาน ” ฌ เฌอ
ญ ญาติ ” ญ หญิง
ฎ ชะฎา ” ฎ ชฎา (ชื่อเรียกเหมือนปัจจุบัน)
ฏ รกชัด ” ฏ ปฎัก (คำว่า รกชัด ปัจจุบันสะกดด้วย ชัฎ แปลว่า
ป่ารก / ป่าทึบ ใช้ ฏ สะกดจึงกำหนดเป็นชื่อ
เรียกของ ฏ)
ฐ สัณฐาน ” ฐ ฐาน / ฐ สัณฐาน ชื่อเรืยกเหมือนปัจจุบัน
ฑ บิณฑบาต ” ฑ นางมณโฑ
ฒ จำเริญ ” ฒ ผู้เฒ่า (คำว่า จำเริญ หมายถึงความเจริญรุ่งเรือง
หรือผู้ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาจนแก่เฒ่า)
ณ คุณ ” ณ เณร (เหตุที่ใช้ ณ คุณ เพราะใช้ ณ เป็นตัวสะกด
ในคำว่า คุณ)
ด เดชะ ” ด เด็ก
ต ตรา ” ต เต่า
ถ รถ ” ถ ถุง
ท ทาน ” ท ทหาร
ธ เธอ ” ธ ธง
น นิล ” น หนู
พ พล ” พ พาน
ภ ภักตร์ ” ภ สำเภา (คำว่า ภักตร์ ในสมัยก่อนสะกดด้วย
ภ-ัก-ต-ร์ ปัจจุบันสะกดด้วย พักตร์ แปลว่า
หน้า)
ย ยินยล ” ย ยักษ์
ร โรค ปัจจุบันคือ ร เรือ
ล วิลาศ ” ล ลิง (คำว่า วิลาศ ว. หมายถึง ของยุโรป เช่น เหล็กวิลาศ
คือ เหล็กของยุโรปนั่นเอง)
ฬ จักรวาฬ ” ฬ จุฬา (สมัยก่อนคำว่า จักรวาฬ ใช้ ฬ สะกด ปัจจุบันใช้
ล เป็นตัวสะกด)

การตั้งชื่อพยัญชนะในสมัยก่อนนั้น ยังตั้งชื่อไม่ครบทุกตัว ต่อมาสมเด็จฯ กรมพระยา
ดำรงราชานุภาพ ทรงดำริเห็นว่า ควรมีชื่อเรียกพยัญชนะให้ครบทุกตัว จึงทรงกำหนดชื่อกำกับ
พยัญชนะครบทั้ง 44 ตัว ตั้งแต่ ก ไก่ - ฮ นกฮูก ไว้ในแบบเรียนเร็ว เล่ม 1 ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 10
ร.ศ. 118 (พ.ศ.2442)
ปัจจุบันราชบัณฑิตยสถานได้ตั้งชื่อพยัญชนะทั้ง 44 ตัว ชื่อสระ ชื่อวรรณยุกต์ รวมทั้ง
เครื่องหมายวรรคตอนต่าง ๆ จัดทำเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ ซึ่งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์
อุตสาหกรรมได้เสนอให้องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for
Standardization-ISO) รับเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศแล้วนะคะ

ชื่อตัวอักษรไทยที่ผู้ใช้ภาษาส่วนใหญ่ยังเรียกชื่อไม่ถูกต้อง ได้แก่
ฐ ฐาน / หรือ ฐ สัณฐาน เรียกเพี้ยนเป็น ถอ-ถัน-ถาน เพราะการออกเสียงพยัญชนะ
ต้นเป็นเสียงเดียวกัน อาจจะทำให้ออกเสียงได้ง่ายกว่า
ฌ เฌอ มักเรียกชื่อผิดเป็น ฌ กระเฌอ
พยัญชนะไทยตัวนี้เรียกชื่อผิดมานานหลายสมัยแล้วนะคะ เนื่องจากไม่เข้าใจ
ความหมาย ของตัว ฌ เฌอ และพยัญชนะ ฌ เฌอ มีโอกาสใช้น้อยจึงทำให้ผู้ใช้ภาษา
ละเลยการใช้ภาษาที่ถูกต้อง
คำว่า “กระเชอ” สะกดด้วย ก-ร-ะ-เ-ช-อ
หมายถึง ภาชนะคล้าย กระจาดเล็ก ทรงสูง ก้นสอบ
ปากกว้าง ใช้กระเดียด คำว่า “กระเชอ” นี้
พบในสำนวนไทยว่า กระเชอก้นรั่ว หมายถึง
ขาดการประหยัด ไม่รู้จักเก็บหอมรอมริบ สุรุ่ยสุร่าย
คำว่า “เฌอ” สะกดด้วย เ-ฌ-อ
เป็นคำ ภาษาเขมร หมายถึง ต้นไม้
พยัญชนะไทยตัวที่ 12 ต้องเรียกชื่อ ฌ เฌอ จึงจะถูกต้องนะคะ
ฬ จุฬา มักออกเสียงผิดเป็น จอ จุฬา เพราะยึดเอาเสียงพยัญชนะต้น “จ” ในคำว่า
จุฬา ชื่อที่ถูกต้องคือ ฬ จุฬา ออกเสียงเหมือน ล ลิง นั่นเองค่ะ

นอกจากการเรียกชื่อพยัญชนะไม่ถูกต้องแล้ว ในปัจจุบันยังพบว่ามีผู้ใชั
ภาษาออกเสียงพยัญชนะผิดเพี้ยนไปจากภาษาไทยมาตรฐาน ได้แก่

พยัญชนะ จ เพี้ยนเป็นเสียง จช , จฉ
ช ” ชจ , ชท คล้ายกับการออกเสียง ch sh
ในภาษาอังกฤษ
ท ” ทช
ย ” ย ขึ้นจมูก
ศ , ษ , ส ” ฉส , ตส , ส ที่มีเสียงเสียดแทรกมากเกินไป
ห , ฮ ” ห ขึ้นจมูก
ปัญหาการออกเสียงผิดเพี้ยนที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากภาษา
ต่างประเทศ และภาษาถิ่นนะคะ หากผู้ใช้ภาษาไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ ในอนาคตชื่อและ
การออกเสียงพยัญชนะบางตัวแบบภาษาไทยมาตรฐานอาจสูญหายไปจากระบบของภาษาค่ะ
พ.อ.หญิงศิริวรรณ์ กาญจนโหติ...ผู้เขียน